Universal Testing Machine
Universal Testing Machine (UTM) เครื่องทดสอบแรงอเนกประสงค์ หรือที่นิยมเรียกกันในอีกหลายๆชื่อเช่น เครื่องทดสอบวัสดุทางกล เครื่องทดสอบแรงกด-แรงดึง เครื่องทดสอบแรงดึง เป็นต้น เป็นเครื่องมือที่ใช้ทดสอบคุณสมบัติเชิงกลของวัสดุต่างๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการทดสอบแบบทำลาย ปัจจุบันมักนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเพราะสามารถใช้ทดสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ยาง, เส้นใย, พลาสติก, ฟิล์ม, คอมโพสิต, บรรจุภัณฑ์ที่ยืดหยุ่น, กาวสติกเกอร์, อุปกรณ์ทางการแพทย์, ฟอยล์โลหะ, กระดาษและผลิตภัณฑ์อื่นๆ คนส่วนใหญ่มักติดปากเรียกเครื่องมือวัดนี้ว่า เครื่องวัดแรงดึง (Tensile) เป็นไปตามลักษณะของการทดสอบแบบดึงยืดชิ้นงาน ซึ่งในความเป็นจริงนั้นเครื่องมือวัดนี้ยังมีความสามารถทำได้นอกเหนือจากดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบการวัดแบบกดอัดชิ้นงาน การทดสอบการทนทานต่อการฉีกขาด การทดสอบความแข็งแรงของรอยเชื่อมหรือกาว การทดสอบการดัดโค้งชิ้นงาน การลอก การเปลี่ยนรูป การยึดเกาะ แรงเจาะ แรงเปิด แรงคลายความเร็วต่ำ แรงดึงออก และการทดสอบประสิทธิภาพอื่นๆ โดยขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ส่วนควบคุมของเครื่องมือวัดรุ่นนั้นๆว่ารองรับหรือไม่ เช่น ขนาดของตัวเครื่องและโหลดเซลล์ หัวจับหรือแท่นวางชิ้นงานทดสอบ เป็นต้น
Universal Testing Machine ลักษณะโดยทั่วไปสามารถแบ่งได้ดังนี้
- เครื่องวัดแรงดึง แบบเสาเดี่ยว (Single Column)
- เครื่องวัดแรงดึงแบบเสาคู่ (Double Column)
หลักการทำงานเครื่องทดสอบแรงอเนกประสงค์
โดยทั่วไปเครื่องมือนี้สามารถอ่านค่าได้หลายหน่วย เช่น นิวตัน (N) , กิโลนิวตัน (kN), กิโลกรัม (kg), กรัม (g), ปอนด์ (lb) หลักการทำงานของเครื่องมือนี้ก็คือ การเก็บข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างการวัดแรงต้านในการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของวัสดุโดยอาศัยอุปกรณ์วัดแรงหรือโหลดเซลล์ (Load cell) และการวัดระยะที่เปลี่ยนแปลงไปของชิ้นงานโดยอาศัยอุปกรณ์วัดระยะ ได้แก่ Extension of Crosshead, Extensometer เป็นต้น เมื่อนำข้อมูลที่ได้มาสร้างกราฟจะได้กราฟความสัมพันธ์ระหว่างแรง และระยะที่เปลี่ยนแปลงไป (Extension, Elongation, Deformation) และหากนำขนาดหรือมิติของชิ้นงานทดสอบมาคำนวณด้วยก็จะได้กราฟความสัมพันธ์ระหว่าง Stress และ Strain ทำให้ได้สมบัติเชิงกลต่างๆของชิ้นงานทดสอบนั้น เช่น ความแข็งแกร่งของวัสดุ (Modulus) ความแข็งแรงของวัสดุ (Strength) ความสามารถในการยืดของวัสดุ (Elongation) เป็นต้น
ทำไมต้องสอบเทียบเครื่องทดสอบวัสดุทางกล
การสอบเทียบมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่จะยืนยันว่าเครื่อง Universal Testing Machine (UTM) ของเราสามารถทดสอบวัสดุได้ตามค่าที่เราต้องการหรือตามที่มาตรฐานกำหนดหรือไม่ ค่าที่วัดออกมามีความเที่ยงตรงมากน้อยเพียงใด ดังนั้นเครื่อง Universal Testing Machine (UTM) ที่เราจะใช้ทดสอบวัสดุจะต้องมั่นใจได้ว่าเครื่องมือนั้นยังคงมีความเที่ยงตรงหรือยังอยู่ในSpec จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสอบเทียบเครื่องมือดังกล่าวเพื่อไม่ให้ชิ้นงานที่ได้วัดค่าออกมาแล้วเกิดการErrorจนกระทั้งตก Spec
ความสามารถของห้องปฏิบัติการ CLC
ทางห้องปฏิบัติการของเรา (CLC) สามารถทำการสอบเทียบเครื่อง Universal Testing Machine (UTM) ได้ ในส่วนของแรงกด (Compression) ที่ Range 0 to 220 kN, แรงดึง (Tension) ที่ Range 0 to 449 kN โดยการนำโหลดเซลล์ (Load Cell )ซึ่งทางห้องปฏิบัติการมีหลายRangeและหลายชนิด โดยจะเลือกใช้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ดังภาพตัวอย่างที่1 Standard เข้าไปติดตั้งกับตัวเครื่อง UTM ของลูกค้า ดังภาพตัวอย่างที่ 2 จากนั้นจึงทำการทดสอบค่าแรงดึง และแรงกดแล้วบันทึกค่า โดยได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025:2017 อีกด้วย อีกทั้งยังสามารถสอบเทียบ Displacement, Extensometer, Speed ได้อีกด้วย
ภาพตัวอย่างที่ 1 หัว Load Cell Standard ของบริษัท แคลิเบรชั่น แลบอราทอรี จำกัด
ภาพตัวอย่างที่ 2
ลักษณะการติดตั้ง Load Cell Standard เพื่อสอบเทียบ Universal Testing Machine ให้กับลูกค้าของบริษัท แคลิเบรชั่น แลบอราทอรี จำกัด
วิธีการดูแลรักษาเครื่องทดสอบแรงกด-แรงดึง
- เมื่อเครื่องมือวัดหยุดการทดสอบหรือทำการทดสอบงานเสร็จสิ้นแล้ว ควรตั้งค่าเครื่องกลับไปประจำตำแหน่งที่ได้ทำการตั้งค่าไว้ (Return Position)
- ควรตั้งค่าระดับ Crosses ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยการกดสวิทช์ Speed Up หรือ Speed Down
- เมื่อเลิกใช้งานให้กดปุ่ม Stop ที่ Control Panel
- ภายหลังการทดสอบงานเสร็จสิ้น ให้ทำการปลดอุปกรณ์ทุกชนิด (Universal joint, Compression joint หรือ Grip) ออกจาก Load Cell แล้วทำการกด Power Off เพื่อให้ระบบไฟฟ้าภายในเครื่องหยุดการทำงาน
- ควรตรวจเช็ค และทำความสะอาดเครื่องมือวัดหลังทดสอบ
- ใช้ผ้าหรือผ้ายางคลุมเครื่องทดสอบ เพื่อป้องกันน้ำหรือฝุ่นละอองจับที่ตัวเครื่องและเป็นการช่วยยืดอายุการใช้งานเครื่อง UTM
หมายเหตุ : ผู้ใช้งานควรได้รับการฝึกอบรมและมีความรู้การใช้งานพื้นฐานเครื่องมือวัด
การบำรุงรักษาเครื่อง UTM
1.การทำความสะอาดตัวเครื่องมือวัด
- ให้ทำการถอดปลั๊กไฟออกจากเต้าเสียบ
- ทำความสะอาดตัวเครื่องด้วยผ้าหรือฟองน้ำที่อ่อนนุ่มด้วยนำยาทำความสะอาดที่เป็นกลาง
- ทำความสะอาดชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบด้วยฟองน้ำหรือผ้าชุบด้วยน้ำสะอาดบิดหมาด
- เช็ดสะอาดผ้าแห้งอีกครั้ง
- ไม่ควรใช้สารเคมีไวไฟหรือสารระเหย เช่น เบนซิน แอลกอฮอล์ทำความสะอาด
2. การหล่อลื่น
- ให้ทำการถอดปลั๊กไฟออกจากเต้าเสียบ
- ทำความสะอาด บอลล์สกรู ด้วยผ้าหรือฟองน้ำที่อ่อนนุ่มด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่เป็นกลาง
- ตรวจสอบและทำความสะอาด เช็ดด้วยน้ำมันเพื่อป้องกันการเกิดสนิม
- ไม่ควรใช้สารเคมีไวไฟหรือสารระเหยเช่น เบนซิน แอลกอฮอล์ในการทำความสะอาด
- เพิ่มจาระบี (grease) ที่บอลล์สกรู อย่างพอเหมาะตามระยะเวลาที่เหมาะสม
- ตรวจสอบความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นเช่นความร้อน, เสียงการสั่นสะเทือนก่อนและหลังการใช้
3. การทำความสะอาดชิ้นส่วนที่เป็นไฟฟ้า
- ทำความสะอาดด้วยผ้าที่แห้งหรือปัดฝุ่นทั่วไป
4. เมื่อไม่ได้ใช้เครื่องมือเป็นเวลานาน
- ให้ถอดปลั๊กไฟฟ้าออกจากเต้าเสียบ
- ทำความสะอาดด้วยผ้านุ่ม
- จัดเก็บเครื่องมือวัดและอุปกรณ์ด้วยวิธีการที่เหมาะสมและเก็บในที่ที่ปลอดภัย
- ใช้ผ้าหรือผายางคลุมเพื่อป้องกันฝุ่น เครื่องทดสอบแรงดึง
ข้อควรระวังในการทำความสะอาดเครื่องมือวัด
- ไม่ควรใช้สารเคมีไวไฟหรือสารระเหยเช่น เบนซิน แอลกอฮอล์ทำความสะอาดอุปกรณ์เพราะจะทำให้อุปกรณ์เกิดความเสียหายได้
- อุปกรณ์ไม่ได้ถูกออกแบบหรือผลิตขึ้นมาเพื่อป้องกันการระเบิดจึงไม่ควรวางวัสดุไวไฟสูงหรือวัสดุที่เกิด การระเบิดภายในห้องซึ่งอาจทำให้เกิดการระเบิดหรือไฟไหม้ได้
ผู้เขียน Katai
ไขควงทอร์คแตกต่างจากไขควงธรรมดาทั่วไปอย่างไร
—
ซื้อเครื่องมือด้านแรงบิดและแรง บริการสอบเทียบด้านแรงบิดและแรง