แคลมป์มิเตอร์ (Clamp Meter) เป็น เครื่องมือทดสอบทางไฟฟ้าที่รวมดิจิตอลมัลติมิเตอร์พื้นฐานเข้ากับเซ็นเซอร์กระแส โดยที่ แคลมป์วัดกระแส โพรบวัดแรงดันไฟ การมีขาก้ามปูรวมอยู่ในมิเตอร์ไฟฟ้าช่วยให้ช่างเทคนิคสามารถหนีบก้ามปูไว้รอบๆ สายไฟ สายเคเบิล หรือตัวนำอื่นๆ ที่จุดใดก็ได้ในระบบไฟฟ้า จากนั้นวัดกระแสในวงจรนั้นโดยไม่ต้องตัดการเชื่อมต่อหรือลดพลังงาน (ดังรูปที่ 1) จึงกล่าวได้ว่าแคลมป์มิเตอร์เป็นเครื่องมือวัดอีกชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นมากในงานด้านไฟฟ้าต่าง ๆ หรืองานซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้า เป็นต้น
รูปที่ 1: แคลมป์มิเตอร์
หลักการทำงานเบื้องต้น
ในขณะที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านสายไฟฟ้า รอบๆ สายไฟจะเกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้น ถ้าหากนำเอาก้ามปูของแคลมป์มิเตอร์ไปคล้องกับสายไฟฟ้าแล้ว จะทำให้ตัวตรวจจับ (Sensor) ที่อยู่ตรงก้ามปูส่งค่าที่ได้ไปแสดงผลที่ส่วนแสดงผลของแคลมป์มิเตอร์ต่อไป (ดังรูปที่ 2)
รูปที่ 2 การทำงานของแคลมป์มิเตอร์
ก้ามปู (Transformer Jaws)
เครื่องมือวัด ทุกชนิดจะมีตัวเซนเซอร์ (Sensor) สำหรับแคลมป์มิเตอร์ก็เช่นเดียวกัน ก็จะมีก้ามปู (Transformer Jaws) เป็นตัวเซนเซอร์สำหรับตรวจวัดกระแสไฟ ซึ่งรูปร่างลักษณะของก้ามปูจะมีให้เลือกใช้หลายแบบด้วยกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน เช่น แบบสี่เหลี่ยม แบบวงกลม แบบหยดน้ำ (ดังรูปที่ 3)
รูปที่ 3 ลักษณะของก้ามปูแบบต่าง ๆ
โครงสร้างภายในของก้ามปูจะประกอบด้วยแผ่นเหล็กที่ทำมาจากโลหะผสมพิเศษที่มีผลต่อสนามแม่เหล็กน้อย นำมาตัดเป็นรูปร่างที่กำหนดไว้เป็นแผ่นบางๆ วางซ้อนกัน และจะมีขดลวดทองแดงพันอยู่รอบๆ แผ่นเหล็กที่ประกบกัน (ดังรูปที่ 4)
รูปที่ 4 แสดงโครงสร้างของก้ามปู
ประเภทของแคลมป์มิเตอร์
แคลมป์มิเตอร์จะแบ่งออกตามลักษณะการใช้งาน ดังนี้:
Analog AC Clamp Meter (มิเตอร์วัดค่าทางไฟฟ้าแบบเข็ม)
Digital AC Clamp Meter (มิเตอร์วัดค่าทางไฟฟ้า AC แบบตัวเลข)
Digital AC/DC Clamp Meter RMS (มิเตอร์วัดค่าทางไฟฟ้าทั้ง AC/DC แบบ RMS)
Leakage Current Clamp Meter (มิเตอร์วัดค่ากระแสรั่วไหล)
AC Power Clamp Meter (มิเตอร์วัดกำลังไฟฟ้า)
ประโยชน์ของแคลมป์มิเตอร์
แคลมป์มิเตอร์โดยทั่วไปแล้ว จะถูกนำมาใช้งานในการวัดกระแสไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าต่างๆ โดยการนำแคลมป์มิเตอร์ไปคล้องกับสายไฟที่ต้องการวัด ก็จะทำให้สามารถทราบค่ากระแสไฟฟ้าได้จากจอแสดงผลบนแคลมป์มิเตอร์
ในปัจจุบันแคลมป์มิเตอร์ได้มีการพัฒนาให้ทันสมัยขึ้น มีฟังก์ชันการวัดที่มากขึ้น ความแม่นยำที่มากขึ้นในการวัด และคุณสมบัติการวัดเฉพาะในบางกรณี เครื่องมือวัดปัจจุบันมีฟังก์ชันพื้นฐานส่วนใหญ่ของดิจิตอลมัลติมิเตอร์ (DMM) เช่น กระแสไฟฟ้า (Current), แรงดันไฟฟ้า (Voltage), ความต่อเนื่อง (Continuity), ความต้านทาน (Resistance), กำลังไฟฟ้า (Power) และสามารถต่อเข้ากับเครื่องบันทึกกราฟ (Recorder) หรือเครื่องออสซิลโลสโคป (Oscilloscope) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์รูปคลื่นไฟฟ้าได้อีกด้วย
แคลมป์มิเตอร์ได้กลายเป็นเครื่องมือวัดยอดนิยมด้วยเหตุผลสองประการคือ
- ความปลอดภัย แคลมป์มิเตอร์ช่วยให้ช่างไฟฟ้าสามารถเลี่ยงวิธีการเสียบสายวัดทดสอบของมิเตอร์เข้าไปในวงจรเพื่อทำการวัดกระแสอินไลน์ ก้ามปูของแคลมป์มิเตอร์ไม่จำเป็นต้องสัมผัสกับตัวนำในระหว่างการวัด
- ความสะดวก ในระหว่างการวัดไม่จำเป็นต้องปิดวงจรที่มีกระแสไฟอยู่ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างมาก
ข้อควรระวังในการใช้แคลมป์มิเตอร์
- การตั้งฟังก์ชั่นย่านวัดให้ตรงกับสิ่งที่จะวัด
- ในการวัดค่าไม่ควรวัดค่าที่เกิน Range ของเครื่องมือวัด
- ไม่ควรทำเครื่องมือวัดหล่นพื้นเพราะจะทำให้แกนเหล็กและวงจรด้านในเสียหายได้
- ควรทำความสะอาดเครื่องมือหลังใช้งานเป็นประจำ
- ระมัดระวังไม่ให้หน้าสัมผัสตรงก้ามปูเป็นสนิมเพราะจะมีผลกับค่าที่วัดได้
ทาง บริษัทแคลิเบรชั่น แลบอราทอรี จำกัด (Calibration Laboratory Co.,LTD) สามารถสอบเทียบแคลมป์มิเตอร์ดังฟังก์ชั่นต่อไปนี้
- ฟังก์ชั่น AC Voltage Range 0 – 1000 V
- ฟังก์ชั่น DC Voltage Range 0 – 1000 V
- ฟังก์ชั่น AC Current Range 10 – 550 A
- ฟังก์ชั่น DC Current Range 10 – 550 A
- ฟังก์ชั่น Resistance Range 1 – 330 MΩ
**ได้รับการรับรองจาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และได้รับการรับรองจาก ANSI National Accreditation Board (ANAB) **
ดูรายละเอียด Scope ได้ที่นี่ คลิก
ผู้เขียนTik Sang