Dispenser หรือ เครื่องดูดจ่ายสารละลาย
Dispenser หรือ เครื่องดูดจ่ายสารละลาย เป็นเครื่องมืออีกชนิดที่ผมจะขอหยิบยกมาพูดคุยกันในครั้งนี้ เจ้า Dispenser หรือ เครื่องดูดจ่ายสารละลายนี้ ใช้เพื่อการจ่ายของเหลว สารเคมี หรือสารเคมีอย่างแม่นยำและควบคุมได้ โดยส่วนใหญ่แล้วจะพบเจอได้ตามห้องทดลอง หรือตามห้องแลบของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รูปร่างหน้าตาอาจจะมีความแตกต่างกันบ้างตามลักษณะการออกแบบของแต่ละยี่ห้อ แต่ไม่ว่าจะยังไงจุดประสงค์เดียวกันคือ ใช้สำหรับดูด-จ่าย สารละลายนั่นเอง เรามาดูกันครับว่าเจ้า Dispenser ที่เกริ่นมานี้ รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ตัวอย่างรูปที่ 1
รูปที่ 1
ซึ่งวัสดุภายในตัวเครื่องต้องผลิตมาจากวัสดุที่สามารถป้องกันการกัดกร่อนของสารเคมี (Excellent Chemical Resistance) ได้เป็นอย่างดี (ก็แหง๋ล่ะเพราะเจ้าตัวนี้มันอาจจะใช้งานกับสารเคมี) และส่วนมาก Dispenser ที่ได้มาตรฐานจะผลิตมาจากวัสดุที่มีส่วนประกอบของ PTFE, FEP, BSG, PP เป็นต้น ก่อนและหลังใช้งาน ตัวเครื่องควรผ่านการนิ่งฆ่าเชื้อ (Autoclave able) ที่อุณหภูมิ 121 องศาเซลเซียส เพราะฉะนั้นก็หมายความว่าวัสดุที่จะนำมาทำตัวเครื่อง Dispenser (เครื่องดูดจ่ายสารละลาย) อย่างน้อยก็ต้องทนความร้อนได้ที่อุณหภูมิ 121 องศาเซลเซียส นอกจากนั้นคุณสมบัติที่จำเป็นก็คือ ตัวเครื่องต้องสามารถทนแรงดัน (Vapor Pressure Max.) ได้ดีอีกด้วย อย่างน้อยก็ประมาณ 400-500 mbar และคุณสมบัติอื่นๆเช่น
- สามารถหมุนล็อคปริมาณในการปล่อยของสารละลายได้
- ตัวเครื่องสามารถต่อเข้ากับขวดของสารเคมีได้หลายขนาด
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือรูปร่างหน้าตาและคุณสมบัติที่สำคัญของ Dispenser (เครื่องดูดจ่ายสารละลาย) ชนิดกดปั๊มด้วยมือ แต่จริงๆแล้วถ้าจะเรียกให้ถูกต้องจะเรียกว่า Bottle Top Dispenser (เครื่องดูดจ่ายสารละลายชนิดกดปั๊ม)
แต่มาระยะหลังๆนี้ ก็สามารถพบเห็นห้องปฎิบัติการหรือผู้ใช้งานบางแห่งได้เปลี่ยนมาจาก Bottle Top Dispenser (เครื่องดูดจ่ายสารละลายชนิดกดปั๊ม) มาเป็น Electronic Digital Bottle Top Dispenser (เครื่องดูดจ่ายสารละลายอัตโนมัติ) ตัวอย่างรูปที่ 2
รูปที่ 2
จากรูปตัวอย่างทั้งสองจะเห็นได้ว่ารูปร่างหน้าตาจะใกล้เคียงกัน เพียงแต่แบบแรกจะเป็นแบบดั้งเดิม คือใช้มือกดปั๊มกับอีกแบบคือใช้การปั๊มอัตโนมัติ ทั้งสองแบบมีข้อดีและข้อด้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับงบประมาณของท่านแล้วล่ะครับว่าจะเลือกใช้แบบไหน ทั้งนี้คุณสมบัติที่สำคัญต่างๆก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ แบบอัตโนมัติอาจจะได้เรื่องรูปร่างหน้าตาและความสะดวกเพิ่มเข้ามา แต่ก็ต้องแลกกับราคาที่สูงกว่าแบบปั๊มมืออยู่ค่อนข้างมาก
การดูแลรักษาและข้อควรระวัง
- ก่อนและหลังใช้งานควรทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนเก็บเข้าที่
- ไม่ควรใช้กับสารละลายที่ค่าความหนืดเกินกว่าสเปคของเครื่องมือ
- ไม่ควรแก้ไขดัดแปลงเครื่องมือด้วยตัวเอง
- ถึงแม้เครื่องมือจะทนความร้อนได้พอสมควร แต่ไม่ได้ทนไฟ
- ไม่ควรจัดเก็บในที่ความชื้นสูงมากจนเกินไป
- หมั่นตรวจสอบเครื่องให้อยู่ในสภาพที่ดีพร้อมใช้งานได้เสมอ
- หมั่นส่งเครื่องมือมาสอบเทียบกับห้องปฏิบัติการสอบเทียบที่ได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ
บริษัท แคลิเบรชั่น แลบอราทอรี จำกัด หรือ CLC มีบริการให้คำปรึกษาและบริการสอบเทียบ Dispenser ในรูปแบบ Accredit 17025 ทั้ง สมอ. และ ANAB ครอบคลุมย่านการใช้งาน ถ้าหากมีข้อสงสัยตรงไหนทางห้องปฏิบัติการสอบเทียบก็ยินดีให้คำปรึกษาโดยเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการในเรื่องนี้โดยเฉพาะ(ปรึกษาได้ทุกเรื่องเกี่ยวกับงานสอบเทียบ) ก็ลองติดต่อกันเข้ามาตามช่องทางต่างๆได้เลยครับ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับเรื่อง Dispenser หรือ เครื่องดูดจ่ายสารละลายทั้งแบบกดปั๊มด้วยมือและแบบอัตโนมัติ พอสังเขปในวันนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านที่สนใจไม่มากก็น้อยนะครับ ผิดพลาดประการใดก็ต้องขออภัยกันไว้ ณ ที่นี้ด้วย แล้วพบกันใหม่ครั้งหน้า ขอบคุณครับ
MKS