ความแตกต่างระหว่างค่าความผิดพลาดกับค่าแก้ ใน การสอบเทียบเครื่องมือวัด

Standard Thermometer, สอบเทียบเครื่องมือวัด

ความแตกต่างระหว่างค่าความผิดพลาด (Error) และ ค่าแก้ (Correction) ในการ สอบเทียบเครื่องมือวัด และวิธีการนำค่านั้นๆไปใช้งาน

การ สอบเทียบเครื่องมือวัด (Calibration) หรือการทวนสอบเครื่องมือวัด (Verification) เป็นข้อกำหนดหนึ่ง ในการควบคุมเครื่องมือวัดตามข้อกำหนดของ ISO 9001 ผู้ใช้งานเครื่องมือจึงต้องดำเนินการสอบเทียบหรือทวนสอบเครื่องมือเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐาน ซึ่งการสอบเทียบเครื่องมือวัดทางห้องปฏิบัติการสอบเทียบจะรายงานผลการสอบเทียบในรูปแบบของใบรายงานผลการสอบเทียบ (Certificate of calibration) โดยทั่วไปแล้วห้องปฏิบัติการสอบเทียบจะรายงานค่าความผิดพลาด (Error) หรือค่าแก้ (Correction) ในใบรายงานผลการสอบเทียบ ซึ่งบทความนี้จะกล่าวถึง ความแตกต่างระหว่างค่าความผิดพลาดและค่าแก้ รวมถึงการนำค่าทั้งสองไปใช้งาน

ค่าความผิดพลาด (Error)

ตามนิยามของ มอก.235 เล่ม 15-2557 ให้คำนิยามว่า ค่าปริมาณที่วัดได้ลบด้วยค่าปริมาณอ้างอิง
ค่าความผิดพลาด (Error)  = ค่าที่วัดได้ (UUC Reading) – ค่าจริง (Standard Reading)

ตัวอย่างเช่น สอบเทียบ Thermometer ที่อุณหภูมิ 100°C โดย Thermometer อ่านค่าได้ 98 °C และ Standard Thermometer อ่านค่าได้ 100.0 °C ซึ่งสามารถคำนวณหาค่าความผิดพลาดได้ดังนี้

ค่าความผิดพลาด (Error)  = ค่าที่วัดได้ (UUC Reading) – ค่าจริง (Standard Reading)  

=    98 °C – 100.0 °C

=    -2 °C    

ส่วนการนำค่าความผิดพลาดจากใบรายงานผลการสอบเทียบไปใช้งานสามารถทำได้โดย การนำค่าความผิดพลาดลบด้วยค่าที่เครื่องมือวัดอ่านค่าได้

ตัวอย่าง จากใบรายงานผลการสอบเทียบ Thermometer ที่อุณหภูมิ 100 °C โดย Thermometer มีค่าความผิดพลาดเท่ากับ -2 °C เมื่อนำ Thermometer ไปใช้วัดอุณหภูมิน้ำมันโดยอ่านค่าได้ 98°Cสามารถหาค่าอุณหภูมิจริงของน้ำมันได้ดังนี้

ค่าอุณหภูมิจริงของน้ำมัน = ค่าที่วัดได้โดย Thermometer – ค่าความผิดพลาด (Error) จากใบรายงานผลการสอบเทียบ

=    98°C – (-2) °C

=    100°C

ค่าแก้ (Correction)

คือ ค่าชดเชยสำหรับแก้ค่าความผิดพลาดของเครื่องมือวัด โดยนำมาบวกทางพีชคณิตกับค่าที่ยังไม่ปรับแก้ของเครื่องมือวัดโดยสามารถคำนวณหาค่าแก้ได้จาก
ค่าแก้ (Correction) = ค่าจริง (Standard Reading) – ค่าที่วัดได้ (UUC Reading)

ตัวอย่างเช่น สอบเทียบ Thermometer ที่อุณหภูมิ 100 °C โดยThermometer อ่านค่าได้ 98 °C และ Standard Thermometer อ่านค่าได้ 100.0°C ซึ่งสามารถคำนวณหาค่าแก้ได้ดังนี้

ค่าแก้ (Correction) = ค่าจริง (Standard Reading) – ค่าที่วัดได้ (UUC Reading)       

=       100.0 °C – 98 °C
=       2 °C  

ส่วนการนำค่าแก้จากใบรายงานผลการสอบเทียบไปใช้งานสามารถทำได้โดย การนำค่าแก้บวกทางพีชคณิตกับค่าที่เครื่องมือวัดอ่านค่าได้

ตัวอย่าง จากใบรายงานผลการสอบเทียบ Thermometer ที่อุณหภูมิ 100 °C โดยThermometer มีค่าแก้เท่ากับ 2 °C เมื่อนำ Thermometer ไปใช้วัดอุณหภูมิน้ำมันโดยอ่านค่าได้ 98 °C สามารถหาค่าอุณหภูมิจริงของน้ำมันได้ดังนี้

ค่าอุณหภูมิจริงของน้ำมัน = ค่าที่วัดได้โดย Thermometer + ค่าแก้ (Correction) จากใบรายงานผลการสอบเทียบ

 =    98 °C + 2 °C

 =    100 °C               

สรุป

การคำนวณหาค่าความผิดพลาด (Error) และ ค่าแก้ (Correction) จะแตกต่างกันโดย

  • ค่าความผิดพลาด (Error)   =   ค่าที่วัดได้ (UUC Reading) – ค่าจริง (Standard Reading)
  • ค่าแก้ (Correction)           =   ค่าจริง (Standard Reading) – ค่าที่วัดได้ (UUC Reading)

ส่วนการนำค่าทั้งสองจากใบรายงานผลการสอบเทียบไปใช้งานจะแตกต่างกันโดย

ค่าจริงของเครื่องมือวัด = ค่าที่วัดได้เครื่องมือวัด – ค่าความผิดพลาด (Error) จากใบรายงานผลการสอบเทียบ
ค่าจริงของเครื่องมือวัด = ค่าที่วัดได้เครื่องมือวัด + ค่าแก้ (Correction) จากใบรายงานผลการสอบเทียบ

ผู้เขียน L3

 

 

 

ขอใบเสนอราคา  ติดต่อเรา

พูดคุยกับเรา

บริการสอบเทียบเครื่องมือวัด  ซื้อเครื่องมือวัด