Liquid in Glass Thermometer (เทอร์โมมิเตอร์แบบแท่งแก้ว) เป็น เครื่องมือวัด อุณหภูมิที่สะดวกและง่ายต่อการใช้งานแต่ในความเป็นจริงการนํา เทอร์โมมิเตอร์แบบแท่งแก้ว ไปใช้งานนั้นมีข้อจํากัดอยู่บ้าง เช่น ระยะของการจุ่ม การอ่านค่าและชนิดของเครื่องมือวัด ดังนั้นในการนำเครื่องมือประเภทนี้ไปใช้งานจึงยังไม่ถูกต้องมากนัก จึงจำเป็นต้องทำการศึกษาถึงข้อกำหนดต่างๆเพื่อให้ทราบก่อนนำเครื่องมือไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
การใช้งานและค่าแก้ของ Liquid in Glass Thermometer แบบจุ่มทั้งหมด (Total Immersion)
จากรูปภาพแสดงตัวอย่างการใช้งานเทอร์โมมิเตอร์แบบแท่งแก้วแบบจุ่มทั้งหมด(Total Immersion) จะพบว่าหากใช้เครื่องมือชนิดนี้วัดอุณหภูมิของเหลวในภาชนะที่มีอุณหภูมิประมาณ 25°C เครื่องมือวัดนี้จะสามารถวัดอุณหภูมิได้ถูกต้อง เนื่องจากมีระยะการจุ่มถูกต้องตามหลักการวัดของเครื่องมือเทอร์โมมิเตอร์แบบแท่งแก้วแบบ Total Immersion แต่ถ้าหากอุณหภูมิ ของเหลวในภาชนะสูงขึ้นเป็น 90°C และทําการวัดโดยใช้เครื่องมือเดิมจะพบว่าความลึกของภาชนะส่งผลต่อระยะจุ่มของเครื่องมือและส่งผลต่อผลการวัด ทำให้อ่านค่าอุณหภูมิได้ต่ำกว่าอุณหภูมิจริงในภาชนะ ผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้อันเนื่องมาจากสารที่บรรจุในแท่งแก้วของ เครื่องมือวัด ได้รับการรบกวนจากสภาวะแวดล้อมส่งผลทําให้การขยายตัวของสารภายในท่อ Capillary ลดลง เนื่องจากระยะการจุ่ม เครื่องมือวัด ไม่เหมาะสม (Immersion Error) จึงทําให้ค่าอุณหภูมิที่อ่านได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
ดังนั้นการใช้งานหรือการอ่านค่าเทอร์โมมิเตอร์แบบแท่งแก้วให้ถูกต้องจึงจำเป็นต้องทําการแก้ค่า ซึ่งสามารถคํานวณหาค่าแก้อุณหภูมิเนื่องจากผลกระทบของระยะจุ่มที่ไม่เหมาะสม (Immersion Error) โดยการวัดอุณภูมิรอบก้านแก้วขณะทำการวัดได้จากสมการดังนี้
Emergent Stem Correction = kn(T-t)
เมื่อ : k = ค่าสัมประสิทธิ์การขยายตัวของของเหลวที่บรรจุในเทอร์โมมิเตอร์แบบแท่งแก้ว
สำหรับเทอร์โมมิเตอร์แบบแท่งแก้วที่มีหน่วยวัดอุณหภูมิเป็นองศาเซลเซียส (°C ) ชนิดที่ของเหลวบบรรจุภายในกระเปาะแก้วเป็นปรอท (Mercury) จะมีค่า k เท่ากับ 0.00016 สําหรับหน่วยวัดอุณหภูมิเป็นองศาฟาเรนไฮต์ (°F ) จะมีค่า k เท่ากับ 0.00009 และเทอร์โมมิเตอร์แบบแท่งแก้ว ที่มีหน่วยวัดอุณหภูมิเป็นองศาเซลเซียสชนิดที่ของเหลวบบรรจุภายในกระเปาะแก้วเป็นแอลกอฮอล์ (Alcohol) จะมีค่า k เท่ากับ 0.00104 สำหรับหน่วยวัดอุณหภูมิเป็นองศาฟาเรนไฮต์ จะมีค่า k เท่ากับ 0.0006
n = จํานวนขีดสเกลแสดงค่าของเทอร์โมมิเตอร์แบบแท่งแก้ว ในส่วนที่โผล่พ้นจากระดับผิวของของเหลวในภาชนะถึงอุณหภูมิที่ทำการวัด
T = อุณหภูมิของของเหลวในภาชนะที่อ่านได้จากเทอร์โมมิเตอร์แบบแท่งแก้ว
t = อุณหภูมิรอบก้านแก้วของเทอร์โมมิเตอร์แบบแท่งแก้ว ที่ทําการวัด (Emergent Stem)
จากสมการจะพบว่าเราต้องทราบค่าของอุณหภูมิที่อยู่รอบๆตัวเทอร์โมมิเตอร์ในขณะทำการวัด จึงจะสามารถใช้งานสมการแก้ค่านี้ได้ โดยการใช้เครื่องมือวัดที่สามารถอ่านค่าได้ติดตั้งคู่กันกับ เทอร์โมมิเตอร์แบบแท่งแก้ว โดยให้ส่วนปลายของเครื่องมือวัดอยู่เหนือระดับผิวของของเหลวดังรูป
รูปแสดงตัวอย่างการวัดอุณหภูมิรอบก้านแก้ว (Emerget Stem Temperature)
จากรูป เป็นตัวอย่างการใช้งานเครื่องมือวัดที่มีของเหลวบรรจุภายในกระเปาะแก้วเป็นของเหลวชนิดปรอท (k = 0.00016) วัดอุณหภูมิของเหลวในภาชนะที่อุณหภูมิประมาณ 90°C โดยอ่านค่าอุณหภูมิจากจาก เทอร์โมมิเตอร์แบบแท่งแก้ว ได้ 89°C และ อ่านค่าอุณหภูมิรอบก้านแก้ว (Emerget Stem Temperature) จาก เทอร์โมมิเตอร์ อีกตัวได้ 28°C โดยมีจำนวนสเกลโผล่พ้นเหนือระดับของเหลวที่ทำการวัดจำนวน 50 สเกล สามารถคำนวณหาค่าแก้จากอุณหภูมิรอบก้านแก้วได้จากสมการ
Emergent Stem Correction = kn(T-t)
= 0.00016 x 50 (89-28)
= 0.488 °C
ดังนั้นอุณหภูมิจริงของของเหลวที่วัดได้จากเทอร์โมมิเตอร์แบบแท่งแก้ว
= 89 + 0.488
= 89.488 °C
ผู้เขียน L3
บริการสอบเทียบเครื่องมือวัด ซื้อเครื่องมือวัด