CMM (Coordinate Measuring Machine)
Coordinate Measuring Machine หรือ ที่เรารู้จักมักคุ้นกันในนาม CMM ออกตัวไว้ก่อนนะครับว่าเรื่อง เครื่องมือวัด ประเภท CMM ทางบริษัท แคลิเบรชั่น แลบอราทอรี จำกัด หรือ CLC ของเรานั้น เคยได้ลงบทความไปแล้วก่อนหน้านี้ (ตามหาอ่านกันได้) แต่ในครั้งนี้ทางผู้เขียนอยากหยิบยก หรือขยายความในรายละเอียดบางอย่าง เพื่อให้ท่านผู้อ่านหรือผู้ที่สนใจ ได้มีความเข้าใจและเห็นภาพมากยิ่งขึ้น
ตามที่เราเข้าใจกันนั้น CMM เป็นเครื่องมือวัดที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก เป็นเครื่องมือวัดอีกชนิดที่มีความแม่นยำสูง (High Precision)และความถูกต้องสูง (High Accuracy) สามารถวัดได้ถึงสามมิติ ( X Axis, Y Axis and Z Axis) เป็นเครื่องมือที่รวมความสามารถของเครื่องมือชนิดอื่นๆทางด้านมิติไว้หลายประเภท และเป็นเครื่องมือที่มีความสลับซับซ้อนในการใช้งานพอสมควร และสามารถใช้งานร่วมกับโปรแกรมประเภท AutoCAD สามารถวัดงานตามแบบที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำและถูกต้องมากกว่าเครื่องมือวัดชนิดอื่นอีกหลายประเภท
ทีนี้เรามาดูกันหน่อยครับว่า เครื่องมือวัดประเภท CMM จริงๆแล้วมีกี่ประเภท ถ้าจะให้แบ่งตามลักษณะการใช้งานและรูปร่างหน้าตา ก็จะพอแบ่งได้ประมาณ 4 ประเภท
CMM มีประเภทอยู่ 4 ประเภท คือ
- Bridge Type เป็นประเภทที่ได้รับความนิยมสูง พบเจอได้บ่อย (บ่อยมากๆ) โครงสร้างมีความแข็งแรง มองแล้วคล้ายกับตัวอักษร U กลับหัว หรือ คล้ายกับสะพาน CMM ประเภทนี้มีความถูกต้องแม่นยำสูง แต่ก็ไม่สามารถวัดชิ้นงานขนาดใหญ่เกินไปได้
- Cantilever Type มีความแม่นยำและถูกต้องค่อนข้างสูง แต่ประเภทนี้จะเคลื่อนที่ได้น้อยกว่าและถ้าเทียบกับ CMM ประเภทอื่นนั้นถือว่ามีความยืดหยุ่นในการใช้งานน้อยกว่า ข้อดีคือ ใช้พื้นที่ไม่มาก เหมาะกับวัดชิ้นงานขนาดเล็ก
- Horizontal Arm Type ประเภทนี้ความถูกต้องแม่นยำจะสู้สองแบบด้านบนไม่ได้ แต่สร้างมาเพื่อวัดชิ้นงานที่มีขนาดใหญ่ เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์, โครงสร้างรถยนต์ทั้งคัน, หรือชิ้นส่วนเครื่องจักร หน้าตาถ้ามองเผินๆจะคล้าย Layout Machine
- Gantry Type ประเภทนี้ถือว่าได้รวมคุณสมบัติของ CMM ของทั้งสามประเภทด้านบนไว้ในเครื่องเดียว มีความถูกต้องแม่นยำสูง เหมาะกับการวัดงานชิ้นใหญ่ ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนเครื่องบินนิยมใช้ บางรุ่นบางยี่ห้ออาจมี Range แกน X 1500-5000 mm, แกน Y 3000-10000 mm, แกน Z 1500-3000 mm เลยทีเดียว!
เป็นไงกันบ้างครับรูปร่างหน้าตาและรายละเอียด (พอสังเขป) ของ เครื่องมือวัด CMM แต่ละประเภทที่ได้กล่าวมาด้านบน พอจะเห็นภาพและความแตกต่างด้านรายละเอียดกันไปบ้างแล้ว แต่การเลือกใช้งาน เครื่องมือวัด ประเภท CMM ให้เหมาะสมกับชิ้นงานที่ต้องการวัดนั้น นอกจากจะต้องคำนึงถึงเรื่องที่กล่าวมาแล้วนี้ สิ่งนึงที่ต้องคำนึงถึงไม่แพ้กันก็คือ เรื่องของโปรแกรมหรือซอฟท์แวร์ ที่ใช้งานร่วมกับ CMM ของเรา และการฝึกอบรมวิธีการใช้งานในแต่ละ Function ของเครื่อง CMM ก็เป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อการใช้งานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพของเครื่องมือระดับนี้ เพราะราคาของ CMM นั้น เป็นเครื่องมือวัดที่ราคาสูงมาก ถ้าใช้งานไม่ชำนาญก็เหมือนกับซื้อมาใช้งานไม่คุ้มค่า..และอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งตัวเครื่องและชิ้นงานที่นำมาวัดและจำเป็นต้อง สอบเทียบเครื่องมือวัด เป็นประจำอีกด้วย
ข้อควรระวังและการดูแลรักษา (Coordinate Measuring Machine)
- CMM ควรติดตั้งในพื้นที่หรือห้องที่มีการควบคุมเรื่องอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม เช่น ในห้องLab หรือ ห้อง QA, QC เป็นต้น
- ผู้ใช้งานต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้งาน CMM เครื่องนั้นๆ
- ไม่นำชิ้นงานหรือสิ่งของที่มีน้ำหนักมากเกินกว่าคู่มือเครื่องนั้นๆกำหนด ขึ้นวางบนพื้นโต๊ะวัดงานของ CMM
- รักษาความสะอาดของเครื่องและบริเวณห้องที่ติดตั้ง CMM อยู่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นและความชื้น
- ไม่แก้ไขดัดแปลงเครื่องเอง ควรดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการโดยตรง
- หมั่นสอบเทียบจากห้องปฎิบัติการที่ได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025 อย่างน้อยปีละครั้ง
ทางบริษัท แคลิเบรชั่น แลบอราทอรี จำกัด หรือ CLC ของเรา ยินดีให้คำปรึกษาเรื่องการใช้งาน CMM และทาง CLC ก็ยังรับ สอบเทียบเครื่องมือ CMM รวมถึงตรวจวัดชิ้นงาน หรือ JIG ชนิดต่างๆในรูปแบบ Accredit ISO/IEC 17025:2017 อีกด้วย ทั้งหมดดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการเรื่องนี้โดยตรง ประสบการณ์นับสิบปี ลองติดต่อสอบถามกันเข้ามาได้เลยครับ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับท่านไม่มากก็น้อย แล้วพบกันครั้งหน้าครับ
ผู้เขียน CHOK_AM
เครื่อง CMM คืออะไร มีประเภทใดบ้าง
—
—