การใช้งานเกจวัดความหนา (Feeler Gauge)และ ข้อควรระวัง

เกจวัดความหนา,Feeler Gauge, สอบเทียบเครื่องมือวัด, สอบเทียบเครื่องมือ, calibration

สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านพบกันอีกครั้งแล้วนะคะ วันนี้ทางผู้เขียนก็มีเครื่องมือมาแนะนำกันอีกเช่นเคยค่ะ เครื่องมือวัดตัวนี้ต้องบอกก่อนเลยว่าเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้เป็นตัวตั้งวาล์วรถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ หรือจะนำไปใช้วัดอย่างอื่นก็ได้เช่นกัน ซึ่งโดยหลักๆแล้วเจ้าตัวเครื่องมือนี้จะใช้วัดความห่างของช่องว่างโดยใช้การสอดแผ่นโลหะแต่ละขนาดสอดเข้าไปในช่องว่างทีละแผ่น แผ่นที่แน่นพอดีไม่หลวมเกินไปคือระยะห่างโดยประมาณของช่องว่างนั้น ท่านผู้อ่านพอจะนึกออกกันหรือยังคะว่าเครื่องมือที่ผู้เขียนจะแนะนำวันนี้คือ เกจวัดความหนา เราไปติดตามกันเลยค่ะ

จากรูปท่านผู้อ่านคงเห็นและพอรู้จักกันบ้างแล้วใช่ไหมคะว่าเครื่องมือที่กล่าวถึงนั้นคือ เกจวัดความหนา วันนี้เราจะมาดูประโยชน์และการใช้งานและการบำรุงรักษาเครื่องมือชนิดนี้กันค่ะ

Feeler Gauge

รูปที่ 1 แสดงลักษณะของฟิลเลอร์เกจ

เกจวัดความหนา (Feeler Gauge)

เครื่องมือวัด เกจวัดความหนาหรือที่เรานิยมเรียกกันว่า ฟิลเลอร์เกจ (Feeler Gauge) เครื่องมือวัดตัวนี้ส่วนใหญ่จะผลิตจากเหล็กกล้าที่ต้องนำไปอบแล้วนำไปชุบแข็ง ผลิตออกมาเป็นแผ่นบางๆเรียบๆ คล้ายกับไม้พายวางซ้อนๆกันตามขนาดความหนาของแต่ละใบแล้วนำมาจัดเป็นชุดๆ โดยมีสกรูยึดไว้ให้เป็นด้ามติดกัน ลักษณะของใบจะมีความสปริงตัวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบิดตัวหรืองอตัวได้ง่าย และแต่ละใบก็จะมีขนาดความหนาที่แตกต่างกันออกไปและจะมีการสลักหรือเลเซอร์ขนาดความหนาไว้บนใบแต่ละใบเพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานสับสน

รูปที่ 2 แสดงตัวเลขกำกับขนาด

ตามรูปที่ 2 จะเป็นการแสดงให้เห็นว่าฟิลเลอร์เกจแต่ละใบนั้นมีขนาดความหนาเท่าไรบ้าง ตัวเลขขนาดความหนากำกับไว้ทั้งในหน่วยอังกฤษ (นิ้ว) และเมตริก (มิลลิเมตร) ตัวเลขด้านบนเป็นหน่วยอังกฤษมีหน่วยเป็นนิ้วหรือฟิลเลอร์นิ้ว ส่วนด้านล่างเป็นหน่วยเมตริกมีหน่วยเป็นมิลลิเมตร และยังมีการสลักทั้งแนวตั้งและแนวนอนอีกด้วย

ซึ่งเครื่องมือที่ขายโดยทั่วไปในท้องตลาดบ้านเราปัจจุบันนี้จะมีลักษณะไม่แตกต่างกันมาก แต่จะต่างกันตรงที่แต่ละรุ่นนั้นจะมีความสั้นความยาว และจำนวนขนาดความหนาหรือจำนวนใบไม่เท่ากันนั่นเอง

ฟิลเลอร์เกจใช้ทำอะไรได้บ้าง

  1. สามารถใช้สำหรับตรวจสอบการแอ่น การโก่งของแผ่นเพลตได้
  2. วัดความโก่งของฝาสูบและเสือสูบ
  3. นำมาใช้เป็นตัวตั้งวาล์วรถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์
  4. ใช้ตั้งระยะห่างของวาล์วไอดี และวาล์วไอเสียเพื่อการปรับแต่งเครื่องยนต์
  5. ใช้วัดความหนาของช่องว่างต่างๆ เช่น ระยะห่างของปากแหวนลูกสูบ

โดยส่วนใหญ่ที่กล่าวไปนั้นจะเป็นการใช้วัดชิ้นส่วนของเครื่องยนต์เป็นส่วนใหญ่นอกจากนี้ยังมีงานอีกมากมายที่สามารถนำฟิลเลอร์เกจไปใช้วัดได้เช่นกัน

การใช้งานฟิลเลอร์เกจ

  1. ต้องทำความสะอาดฟิลเลอร์เกจและชิ้นงานที่ต้องการทำการวัดให้สะอาด
  2. วางชิ้นงานที่ต้องการวัดบนพื้นผิวที่เรียบขณะทำการวัด
  3. ทำการเลือกขนาดแผ่นความหนาของ เครื่องมือวัด ประเภทฟิลเลอร์เกจที่ต้องการใช้
  4. สอดฟิลเลอร์เกจเข้าไประหว่างช่องว่างจากนั้นค่อยๆดึงฟิลเลอร์เกจออกมา
  5. ขณะที่ดึงฟิลเลอร์เกจออกมาให้สังเกตว่าหากมีความแน่นและความฝืดที่พอเหมาะนั่นแสดงว่าระยะห่างของช่องว่างเท่ากับความหนาของแผ่นฟิลเลอร์เกจที่เรากำลังทำการวัด แต่ถ้ามีความรู้สึกว่ายังหลวมอยู่ให้เลือกแผ่นที่มีความหนามากขึ้นไปเรื่อยๆ
  6. ในกรณีที่เราไม่สามารถทำการวัดขนาดด้วยฟิลเลอร์เกจแผ่นเดียวได้ ก็สามารถใช้ฟิลเลอร์เกจ 2-3 แผ่นมาประกบกันเพื่อทำการวัดได้ แต่ก็ควรใช้ให้น้อยแผ่นมากที่สุดก็จะดีกว่าค่ะ

ข้อควรระวังในการใช้งาน

     ฟิลเลอร์เกจบางแผ่นมีลักษณะเป็นแผ่นบางอาจเกิดการบิดตัวหักงอหรือยับได้ง่ายถ้าใช้อย่างไม่ถูกวิธี ดังนั้นการใช้งานควรคำนึงถึงสิ่งนี้

  1. ทำความสะอาด และตรวจสอบสภาพก่อนการใช้งานทุกครั้ง
  2. ควรเลือกใช้เครื่องมือให้มีขนาดใกล้เคียงกับระยะที่เราต้องการวัดส่วนที่เหลือให้เก็บไว้ในด้ามเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย
  3. ไม่ควรนำฟิลเลอร์เกจที่มีรอยยับ บิดงอหรือเสียรูปทรงไปใช้วัดชิ้นงาน เพราะจะทำให้ค่าที่วัดออกมามีความคลาดเคลื่อน
  4. ควรใช้แรงให้พอดีในการวัด ไม่ควรดึงหรือดันเครื่องมืออย่างรุนแรงเพื่อป้องกันไม่ให้ดันฟิลเลอร์เกจเกิดความเสียหาย
  5. หลังจากใช้งานเสร็จให้ทำความสะอาดฟิลเลอร์เกจทุกแผ่นแล้วทาน้ำมันกันสนิมและจัดเก็บให้เรียบร้อย

          การใช้งานและการบำรุงรักษาฟิลเลอร์เกจแบบง่ายๆเพียงเท่านี้ทุกท่านก็สามารถมีฟิลเลอร์เกจไว้ใช้งานได้ยาวนานขึ้นแล้วล่ะค่ะ หากท่านใดมีความสนใจส่งสอบเทียบ ทางบริษัท แคลิเบรชั่น แลบอราทอรี จำกัด ของเราก็ยินดีให้บริการ ห้องปฏิบัตการของเราสามารถสอบเทียบ ฟิลเลอร์เกจ โดยใช้  Universal Length Machine (ULM) และได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025
ตั้งแต่ Range 0.01 mm – 3.00 mm (ทั้งสมอ และ ANAB) รายละเอียด Scope การสอบเทียบ คลิก

ทั้งนี้บริษัท แคลิเบรชั่น แลบอราทอรี จำกัด ยังมีเครื่องมือชนิดนี้จำหน่ายอีกด้วย หากลูกค้าสนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ทุกช่องทางเลยนะคะ

MKS

 

 

 

ขอใบเสนอราคา  ติดต่อเรา

พูดคุยกับเรา

บริการสอบเทียบเครื่องมือวัด  ซื้อเครื่องมือวัด